10
พ.ค. 2559
จุฬาฯ เปิดฟาร์มหอยทากเชิงนิเวศแห่งแรกเอเชีย เน้นนำเมือกสกัดทำผลิตภัณฑ์เสริมความงามและต่อยอดเชิงพาณิชย์
วานนี้ (30 มี.ค. 59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิด ฟาร์มหอยทากเชิงนิเวศแห่งแรกของเอเชีย (Siam Snail Eco Farm) ถนนร่วมพัฒนา เขตหนองจอก กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายงานระบุว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งเสริมให้คณาจารย์ทำงานวิจัย โดยไม่หยุดแค่ห้องปฏิบัติการ แต่ต้องนำไปสู่การใช้ประโยชน์ โดยการให้คณาจารย์และนิสิต จัดตั้งบริษัทในลักษณะ Start up/ Spin off เพื่อต่อยอดนำไปสู่การจดสิทธิบัตร
ด้าน ศาสตราจารย์สมศักดิ์ ปัญหา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หอยทากในไทย ซึ่งอยู่ในเขตร้อน มีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า หากเทียบกับหอยทากในเขตหนาว โดยเฉพาะหอยทากนวล นิยมนำเมือกมาใช้เพื่อเสริมความงาม ซึ่งหอกทาก 1 ตัว สามารถผลิตเมือกได้ประมาณ 2-3 ซีซี และในอีก 2-3 วัน ก็สามารถเก็บเมือกได้อีกครั้ง จึงก่อสร้างฟาร์มเลี้ยงหอยทากกึ่งธรรมชาติขึ้น เพื่องานวิจัยเชิงพาณิชย์ และยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับเยาวชน
ฟาร์มเลี้ยงหอยทากกึ่งธรรมชาติแห่งนี้ ถือเป็นแห่งแรกของเอเชีย เน้นการเพาะเลี้ยงหอยทากสายพันธุ์สยาม โชว์ความหลากหลายของสายพันธุ์หอยทาก และพัฒนาการใช้เมือกหอยทากสายพันธุ์ไทยในอุตสาหกรรมความงามสู่ตลาดโลก ภายใต้การค้นคว้าจากทีมนักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย