จุฬาฯ เปิดฟาร์มหอยทากเชิงนิเวศแห่งแรกในเอเชีย

10 พ.ค. 2559
จุฬาฯ เปิดฟาร์มหอยทากเชิงนิเวศแห่งแรกในเอเชีย | สยามสเนล

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดฟาร์มหอยทากเชิงนิเวศแห่งแรกของเอเชีย (Siam Snail Eco Farm) ผลงานจากการต่อยอดงานวิจัยจนเกิดเป็นบริษัท Spin off สยามสเนล ภายใต้สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา จุฬาฯ

ศ.นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในพิธีเปิด Siam Snail Eco Farm ฟาร์มหอยทากเชิงนิเวศแห่งแรกของเอเชีย ที่ถนนร่วมพัฒนา เขตหนองจอก กทม.ว่าในโอกาสครบรอบ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีแนวทางชัดเจนที่จะส่งเสริมให้คณาจารย์ทำงานวิจัย โดยไม่หยุดเพียงการตีพิมพ์หรืออยู่แค่ในห้องปฏิบัติการ แต่ต้องต่อยอดนำไปสู่การจดสิทธิบัตร สู่การใช้ประโยชน์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสนับสนุนให้คณาจารย์และนิสิต จัดตั้งบริษัทในลักษณะ Start up/ Spin off โดยได้มอบหมายให้สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาฯ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายอันสำคัญนี้

ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เจ้าของผลงานวิจัย เมือกหอยทากไทยมีสารออกฤทธิ์ในการดูแลผิวสูงกว่าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศถึง 30 เท่า กล่าวว่า การเปิดตัว Siam Snail Eco Farm ซึ่งเป็นฟาร์มหอยทากเชิงนิเวศแห่งแรกของเอเชียครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางจากวิจัยพื้นฐานสู่ Start up/ Spin off โดยฟาร์มหอยทากเป็นส่วนที่ต่อยอดจากงานวิจัย เข้าสู่ขั้นตอนการผลิตเมือกหอยทากสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และจะต่อเนื่องไปสู่ขั้นตอนของการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่อไป โดยฟาร์มหอยทากเชิงนิเวศแห่งนี้อยู่บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ จำลองขึ้นให้เหมือนกับแหล่งอาศัยดั้งเดิมของหอยทากแต่ละสายพันธุ์ที่มาจากถิ่นฐานที่ต่างกัน มีการเลือกต้นไม้ที่หอยแต่ละชนิดชอบอยู่อาศัย มีการจัดระบบนิเวศของการอยู่ร่วมกันและพึ่งพากันกับสัตว์ชนิดอื่น (เช่นไส้เดือน กิ้งกือ) มีระบบปรับอุณหภูมิและความชื้นอัตโนมัติ มีการจัดการของเสียและน้ำเสียที่ใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงงาน zero waste รวมไปถึงการให้อาหารสูตรเฉพาะ เพื่อให้หอยทากผลิตเมือกที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์บำรุงผิวพรรณในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์หอยทากบก เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ที่จะได้ตระหนักถึงคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งของชาติ

ที่มา http://www.banmuang.co.th/news/education/44501

ข่าวทั้งหมด